ระบบกำลังทำการเรียกข้อมูล โปรดรอสักครู่ ....















 


ผลงานทางวิชาการการศึกษา เรื่องที่ 2604 วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด 9 ท่าน ผู้ชมขณะนี้ 2 ท่าน

คลิกอ่านผลงานอื่น ๆ


การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ร่วมกับแบบฝึกทักษะ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

      บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ร่วมกับแบบฝึกทักษะ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านท่าลาด อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 โรงเรียนบ้านท่าลาด อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จำนวน 26 คน ได้จากการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะ เรื่องการบวกและการลบทศนิยม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม และแบบฝึกทักษะเรื่อง การบวกและการลบทศนิยม การวิเคราะห์ข้อมูล ทำได้โดยการวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยสรุปได้ว่าก่อนการใช้แบบฝึกทักษะ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม นักเรียน มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 12.88 คะแนน และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 4.12 และหลังการใช้แบบฝึกทักษะการบวกและการลบทศนิยม นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 15.54 คะแนน และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.62 ซึ่งนักเรียนมีคะแนนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย เท่ากับ 2.65 คะแนน และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 2.06 โดยมีค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 0.37 แสดงว่า นักเรียนมีการพัฒนาในการเรียนรู้สูงกว่าหลังเรียนด้วยการเรียนรู้ แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม คำสำคัญ : การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ แบบฝึกทักษะ การบวกและการลบทศนิยม ___________________________________________________________________________________ 1ครูโรงเรียนบ้านท่าลาด อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง

      บทนำ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพ ในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ คือ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (กระทรวงศึกษาธิการ, 2552 : 2-13) ในส่วนของความสามารถในการคิดนั้นเป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศ เพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม มีการพัฒนาอย่างสมดุลโดยคำนึงถึงหลักพัฒนาการทางสมองและพหุปัญญา ดังนั้น หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ สำหรับสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ มีเหตุมีผล พัฒนาการคิดอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหา การดำเนินชีวิตและศึกษาต่อ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2552: 2-13) ระบุที่มา ความสำคัญ โจทย์ของการวิจัยที่สะท้อนมุมมองใหม่ของการสร้างสรรค์การศึกษาและวิชาชีพ การสร้างนวัตกรรมการศึกษาที่ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวครูพัฒนาท้องถิ่น นักเรียน ชั้นเรียน โรงเรียน รวมถึงสังคมชุมชน สภาวการณ์การศึกษาไทยในปัจจุบัน

      ทบทวนวรรณกรรม 1. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานระดับท้องถิ่นและสถานศึกษาทุกสังกัดที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำไปใช้เป็นกรอบและทิศทางในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยทุกคนได้มีความรู้ความสามารถ และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากร ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรแกนกลางไปปฏิบัติ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการสำคัญ ๆ ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และกระบวนทัศน์การบริหารจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอน การใช้สื่อและแหล่งการเรียนรู้ การวัดประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีคุณภาพตามหลักการของหลักสูตร ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การใช้หลักสูตรแกนกลางประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาของไทย (เอกรินทร์ สี่มหาศาล, 2551 : คำนำ) 2. การสอนคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์มีความสำคัญต่อชีวิตของคนเราเป็นอย่างมากทั้งการดำรงชีวิต เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และจำเป็นต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้มีความคิดที่เป็นระบบระเบียบ รอบคอบละเอียดถี่ถ้วนและมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Method) การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Method) เป็นวิธีหนึ่งที่มุ่งให้ผู้เรียนได้สืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง โดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของการสอน แบบสืบเสาะหาความรู้ 4. แบบฝึกทักษะ แบบฝึกทักษะเป็นสื่อที่ใช้พัฒนาการคิด การวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและการปฏิบัติของนักเรียน นิยมใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ลักษณะของแบบฝึกประกอบด้วยจุดประสงค์ ทบทวนกฎเกณฑ์ เสนอตัวอย่างแบบฝึก เฉลยและอธิบายเพิ่มเติม วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม ก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้การเรียนรู้แบบเสาะหาความรู้ร่วมกับแบบฝึกทักษะของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 วิธีดำเนินการวิจัย การวิจัยครั้งนี้ มีขั้นตอนดำเนินการวิจัย ดังนี้ กลุ่มเป้าหมาย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 โรงเรียนบ้านท่าลาด สำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 2 จังหวัดพัทลุง จำนวน 26 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 1. แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้ชุดแบบฝึกทักษะ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม 2. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังหลัง เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม จำนวน 1 ฉบับ แบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ 3. แบบฝึกทักษะ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม คุณภาพของเครื่องมือ ในการหาคุณภาพเครื่องมือ ผู้วิจัยได้ดำเนินการ ดังนี้ 1. แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้ชุดแบบฝึกทักษะ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม 1.1 ศึกษาหลักสูตรแกนกลางศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ พุทธศักราช 2551 ช่วงชั้นที่ 2 คู่มือการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ซึ่งจัดทำโดย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ 1.2 ศึกษาเนื้อหาและจุดประสงค์การเรียนรู้ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม จากคู่มือครู 1.3 วิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนบ้านท่าลาด กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 เพื่อจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ให้ตรงกับหลักสูตรที่กำหนด 1.5 จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้รายชั่วโมง ตามวิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ จำนวน 5 แผน ใช้เวลา 5 ชั่วโมง รวมทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนเป็น 7 ชั่วโมง 1.6 นำแผนการจัดการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 คน ได้แก่ ครูพี่เลี้ยงและอาจารย์นิเทศก์ 1.7 นำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้ชุดแบบฝึกทักษะ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยมที่ได้รับปรับปรุงแก้ไข และนำมาใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการบวกและการลบทศนิยมกับกลุ่มเป้าหมาย 2. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม 2.1 สร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม แบบเลือกตอบ ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาและจุดประสงค์การเรียนรู้ 2.2 นำแบบทดสอบที่สร้างขึ้นเสนอต่ออาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อตรวจความถูกต้องและดำเนินการแก้ไขในส่วนที่ได้รับคำแนะนำ แล้วนำเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 คน และวิเคราะห์หาดัชนีความสอดคล้องจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ (IOC) ซึ่งได้ค่าดัชนีความสอดคล้อง 0.80 – 1.00 2.3 นำแบบทดสอบที่ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องแล้วและคัดเลือกมาแล้ว ไปทดสอบกับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลบ้านคูหาสวรรค์ จำนวน 30 คน 2.4 นำกระดาษคำตอบของนักเรียนจากการทำแบบทดสอบมาตรวจให้คะแนน โดยข้อที่ถูกให้ 1 คะแนน และตอบผิด ไม่ตอบ หรือตอบเกิน 1 คำตอบ ให้ 0 คะแนน 2.5 นำคะแนนจากการทำแบบทดสอบมาวิเคราะห์หาคุณภาพของแบบทดสอบเป็นรายข้อ โดยคัดเลือกข้อสอบจำนวน 20 ข้อ ที่มีค่าความยากง่าย (p) ตั้งแต่ 0.41 - 0.83 และมีค่าอำนาจจำแนก (r) ตั้งแต่ 0.38 - 0.63 2.6 นำแบบทดสอบที่ได้คัดเลือก มาทำการหาความเชื่อมั่นทั้งฉบับโดยวิธีคูเคอร์ริชาร์ดสัน (KR-20) โดยมีค่าความเชื่อมั่น 0.82 และนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย การเก็บรวบรวมข้อมูล 1. ทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยแบบทดสอบก่อนเรียน เรื่อง การบวกและการลบ ทศนิยม แบบเลือกตอบ ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ กับกลุ่มเป้าหมาย 2. ตรวจกระดาษคำตอบจากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยให้คะแนนเป็นรายข้อ ข้อที่ตอบถูกให้ 1 ตอบผิด ไม่ตอบ หรือตอบเกิน 1 คำตอบให้ 0 3. ผู้วิจัยนำแบบฝึกทักษะมาใช้ในระหว่างการจัดการเรียนรู้ 4. ทดสอบหลังเรียนโดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนฉบับเดิม ในชั่วโมงหลังจากสิ้นสุดของการจัดการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยมกลุ่มเป้าหมาย 5.ตรวจกระดาษคำตอบจากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยให้คะแนนเป็นรายข้อ ข้อที่ตอบถูกให้ 1 ตอบผิด ไม่ตอบ หรือตอบเกิน 1 คำตอบให้ 0 6.นำคะแนนที่ได้มาวิเคราะห์วิเคราะห์ความก้าวหน้าทางการเรียนของกลุ่มเป้าหมาย พิจารณาจากคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน-หลังเรียน การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ความก้าวหน้าทางการเรียนของกลุ่มเป้าหมาย พิจารณาจากคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน-หลังเรียน โดยใช้สูตร ดัชนีประสิทธิผล (Effectiveness Index : E.I) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล 1. ค่าสถิติพื้นฐาน 1.1 ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (Mean) 1.2 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) 1.3 ดัชนีประสิทธิผล (Effectiveness Index : E.I) 2. สถิติที่ใช้ในการหาคุณภาพของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 2.1 การดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อสอบกับจุดประสงค์การเรียนรู้ (IOC) 2.2 การหาค่าความยากง่าย (Difficulty) โดยใช้สูตรอย่างง่าย 2.3 การหาค่าอำนาจจำแนก (Discrimination) โดยใช้สูตรอย่างง่าย 2.4 การหาค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ของการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยแบบทดสอบ โดยใช้สูตรของคูเตอร์ริชาร์ดสัน สูตร (KR-20)

      ผลการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า ก่อนการใช้แบบฝึกทักษะ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม นักเรียนทำคะแนนสูงสุดได้ 20 คะแนน คะแนนต่ำสุด 6 คะแนน มีคะแนนเฉลี่ย 12.50 คะแนน และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 4.26 และหลังการใช้แบบฝึกการบวกและการลบทศนิยม นักเรียนทำคะแนนสูงสุดได้ 20 คะแนน คะแนนต่ำสุด 12 คะแนน คะแนนเฉลี่ย 15.37 คะแนน และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.66 ซึ่งนักเรียนมีคะแนนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.87 คะแนน และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.13 จากการวิเคราะห์ความก้าวหน้าทางการเรียนของกลุ่มเป้าหมาย พิจารณาจากคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน-หลังเรียน โดยการหาค่าดัชนีประสิทธิผลได้เท่ากับ 0.38 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลปรากฏดังแสดงในตารางที่ 1 ตารางที่ 1 แสดงคะแนน ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนนก่อนและหลังเรียน โดยใช้ แบบฝึกทักษะการบวกและการลบทศนิยม ผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน คะแนนเต็ม คะแนนสูงสุด คะแนนต่ำสุด คะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ก่อนเรียน 20 20 6 12.88 4.12 หลังเรียน 20 20 12 15.54 2.62

      สรุปผลการวิจัยและอภิปรายผล สรุปผลการวิจัย ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ 1. ก่อนการใช้แบบฝึกทักษะ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม นักเรียนทำคะแนนสูงสุดได้ 20 คะแนน คะแนนต่ำสุด 6 คะแนน มีคะแนนเฉลี่ย 12.88 คะแนน และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 4.12 2. หลังการใช้แบบฝึกการบวกและการลบทศนิยม นักเรียนทำคะแนนสูงสุดได้ 20 คะแนน คะแนนต่ำสุด 12 คะแนน คะแนนเฉลี่ย 15.54 คะแนน และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.62 3. นักเรียนมีคะแนนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.65 คะแนน และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.06 4. การวิเคราะห์ความก้าวหน้าทางการเรียนของกลุ่มเป้าหมาย พิจารณาจากคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน-หลังเรียน ทำได้โดยการนำผลต่างระหว่างผลรวมของคะแนนหลังเรียนและก่อนเรียนของนักเรียนทุกคน หารด้วยผลต่างระหว่างจำนวนนักเรียนคูณคะแนนเต็มและผลรวมของคะแนนก่อนเรียนทุกคน ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้หาค่าดัชนีประสิทธิผล ได้เท่ากับ 0.37 อภิปรายผล จากผลการวิจัยสามารถอภิปรายผลตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ดังนี้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง การบวกและการลบทศนิยม ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านท่าลาด อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง พบว่า นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น มีการทบทวนบทเรียน ทำแบบฝึกทักษะ ทำให้นักเรียนเข้าใจเรื่องการบวกและการลบทศนิยมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของปรางค์ทอง เทพศรี (2550) ได้ศึกษาการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่องพื้นผิวและปริมาตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549 โรงเรียนวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 44 คน พบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ สูงกว่าก่อนการใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และการจัดกิจกรรมดังกล่าวนี้ เป็นไปตามลักษณะการจัดบทเรียนเน้นกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ตามหลักการ แนวคิด และขั้นตอนการสอนของ สสวท. (2547 : 6 – 11) สรุปแนวคิดที่ว่าครูจัดกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่ให้นักเรียนวิเคราะห์ อธิบายความรู้ โดยนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมาวิเคราะห์ แปลผล สรุปผล โดยนำความรู้เดิมมาใช้หรืออภิปรายซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้หรือสิ่งที่ได้ค้นพบเพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาความรู้ความเข้าใจในองค์ความรู้ที่ได้อย่างชัดเจนแล้วสรุปเป็นความคิดเดียวกันโดยจัดกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีความรู้ลึกซึ้ง หรือ ขยายกรอบความคิดให้กว้างขึ้นนักเรียนเชื่อมโยงความรู้เดิมไปสู่ความรู้ใหม่

      

ผลงานโดย :
คลิดูภาพขนาดใหญ่
กัญธนัช จันทร์ลาม
บ้านท่าลาด

 

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36
1115/23 ถ.ไกรสรสิทธิ์ ตำบลรอบเวียง จังหวัดเชียงราย
T.053601451 secondary36cripyo@gmail.com

[ คลิกที่นี่เข้าสู่ระบบ เข้าสู่ระบบ ]
©พัฒนาโปรแกรมโดย นายอภิวัฒน์ กันศรีเวียง